• Home
  • LETTER FROM THE PAST
  • ชีวิตริมสายน้ำ บ้านหม้อ บางตะนาวศรี

ชีวิตริมสายน้ำ บ้านหม้อ บางตะนาวศรี


คนบางตะนาวศรี ส่วนใหญ่ทำเครื่องปั้นดินเผ่ามาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าเดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะเรือที่มาซื้อหม้อไม่มานานแล้ว คนเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่ใช้หม้อดินเผา  เขาใช้ภาชนะสมัยใหม่กัน ที่สำคัญเราก็ไม่มีแรงทำแล้ว แก่กันหมดแล้ว คนทำก็เลิกไปทีละบ้าน ทีละเตา เดี๋ยวนี้ไม่เหลือแล้ว ตอนน้ำท่วมใหญ่ก็เอาไปหมดร่องรอย ถ้าจะมีก็ต้องลองขุดดูข้างล่างบ้านเจอแน่เศษกระดินเผา ตอนนี้มีแต่สิ่งที่เป็นความทรงจำ … สมัยก่อนยุคพ่อแม่เรานะหรือ มีเรือมารับซื้อ เรือกระแซงลำใหญ่มาจอดหน้าบ้านเลย … เขาเอาไปขายตามที่ต่างๆ … เอาไปแลกข้าวของก็มี… เอกลักษณ์ของงานดินเผาบางตะนาวศรี ไม่เหมือนใคร เราจะขัดหม้อให้น่าใช้ ที่อื่นเขาไม่ขัด งานเราจะทนทาน มีคุณภาพ … เคยกินไหมละข้าวที่ทำจากหม้อดินเผานะ จะหอมสุกทั่วถึง ขนมครกเตาดินเผาก็เหมือนกัน ความต่างจากเตาเหล็กคือ จะสุกทั่วถึงทั้งฝา แคะออกมาแล้วเป็นฝาไม่กระด้าง กรอบนอกนุ่มใน … ความทรงจำแห่งบางตะนาวศรี

ลมปลายฤดูหนาวพัดเอื่อยเย็นสบาย ทอดสายตาออกไปไกลในแม่น้ำเจ้าพระยาพยับแดดยามบ่ายพริ้วตามกระแสน้ำ จำได้ว่ายิ่สิบปีที่แล้วเคยมาแถวท่าน้ำนนท์ ถนนพิบูลสงคราม ชุมชนแถวนี้เป็นชุมชนเก่า ชุมชนเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับท่าน้ำนนท์ คนส่วนใหญ่รู้จักที่นี่ในชื่อ บางตะนาวศรี บางที่มีเครื่องบั้นดินเผาฝีมือคนตะนาวศรี ลือชื่อรู้จักกัน … หม้อตะนาวศรี ขัดมันดีใช้ทนทาน …  แต่ถ้าออกไปเดินตามดูบ้านบางตะนาวศรีตอนนี้ไม่เห็นร่องรอยการทำเครื่องปั้นดินเผาเลย หม้อตะนางศรีไปอยู่ที่ไหน ? ทั้งที่ในบันทึกเก่าบอกไว้ว่า บางตะนาวศรีเคยมีกำลังการผลิตหม้อดินเผาคุณสภาพดีนับแสนใบต่อปี ต่อปีเป็นแสนใบ เดี๋ยวนี้ไม่เหลือสักใบ

มาลองตามหาร่องรอยของหม้อบางตะนาวศรี จากคนที่เคยทำหม้อตัวจริง ป้ารุน “พ่อแม่ทำมาก่อน ใช้ดินเหนียวของสามโคกเมืองปทุมธานี เขามาส่งตามบ้านเป็นลำเรือ บ้านแถวนี้ทุกบ้านทำเครื่องปั้นดินเผา พอเรือเขามาส่งดินแล้วเราก็เอาดินมาหมัก มาโม่แต่ก่อนใช้คนย่ำ แล้วถึงเอามาแป้นมาชักดินแล้วก็ลงมือปั้นปั้นแล้วเอามาตาก แล้วทาดินเหลือง แล้วเอาหินน้ำตกมาขัด แล้วถึงจะเผา เตาเผาไม่ได้มีทุกบ้าน บ้านไหนทำเยอะก็จะมีเตา บ้านที่ทำน้อยก็มาขอใช้เตาได้ การเผาต้องมีคนชำนาญ เรียกว่านายเตาคอยดูว่าไฟร้อนแค่ไหนถึงจะเผาได้ เผาแค่ไหนพอ เผาเสร็จก็มีคนมารับ แต่ก่อนนี้มีเรือมอญ (เรือกระแซง) มารอรับหม้อเอาไปขายยาวเต็มริมน้ำตลอดย่านนี้ คนทำงานกันไม่ได้หยุด งานดินเผา บางตะนาวศรี ได้รับการบันทึกว่า ประณีต งดงาม น่าดู น่าใช้กว่าท้องถิ่นอื่น คนทำเครื่องปั้นดินเผาก็มีครูนะ  ต้องมีพิธีไหว้ครู ถึงวันสงกรานต์จะมีพิธีไหว้ครู มีหัวหมู บายศรี เป็นการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ที่ให้วิชาประกอบอาชีพ ทำกันทุกบ้าน ก่อนจะลงมือปั้นก็ต้องยกมือไหว้ ยายช่วยพ่อแม่ทำมาต้งแต่ออกจากโรงเรียน ก็ทำมาตลอด เคล็ดลับของหม้อตะนาวศรี ก็คล้ายๆ ที่อื่น เราให้ความสำคัญกับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผสมดินผสมทราย วิธีหมักดินย่ำผสมจนได้ที่ นวดเข้าก้อน แล้วขัด หม้อที่บ้านเราที่เดียวที่ขัด ความแตกต่างของเครื่องดินเผาที่นี่คือ ขัดมัน ทดทาน เนื้อดี  เราก็ทำเตาขนมครกทั้งเตาและเต้าขนมครก มีตั้งแต่แบบ 7 เต้า 8 เต้า 12 เต้า ไปถึง 20 เต้า ถึงเวลาคนก็มารับทำส่งร้านทำขนมครก เตาขนมครกพอน้ำท่วมใหญ่น้ำมามาก เตาก็เสียหาย ประกอบกับคนไม่นิยมเครื่องดินเผาแล้วเราก็ต้องเลิก “

ป้าจุก “ทำหม้อนี่เราต้องมีคนช่วย อย่างน้อย 20 คน หน้าที่ของแต่ละคนไม่เหมือนกันตั้งแต่ คนเอาดินมาใส่บ่อ คนเหยียบ คนนวด คนปั้น คนแต่ง คนเจาะ คนขัด แล้วต้องเอาไปตากให้แห้งแล้วถึงจะเผา คนเผาก็ต้องมีความเชี่ยวชาญ ถึงเวลาทำทุกคนจะมาทำตามหน้าที่ของตัวเอง  แต่ละคนมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน เดี๋ยวนี้คนทำไม่มีแล้ว คนทำตายหมดแล้ว ที่มีชีวิตอยู่ก็ทำไม่ไหวแล้วเหลือแต่ฉันเป็นเจ้าของ บ้านเราทำเตาขนมครกหม้อเราไม่ได้ทำ  ขนมครกเตาดิน ต่างกับสมัยนี้ยังไง เวลาเอาไปทำขนมครกมันจะสุกพอดี ไม่ติดแคะออกมาแล้วไม่แฉะ ขนมครกสวยรสชาติดีไม่เหมือนสมัยนี้ หม้อก็เหมือนกัน เราไปใส่แกง เอาไปหุงข้าวคนสมัยก่อนนิยมใช้กัน ไม่เว้นแม้แต่กระทะทอดของ ทำได้ทุกอย่างเหมือนสมัยนี้ ผัดอาหารก็ได้ สมัยสงครามโลกเหล็กไม่มี ขาดตลาดไม่มี ก็ใช้กระทะดินเผา ถึงจะร้อนช้ากว่าแต่ร้อนดีร้อนนาน บ้านเราทำดินเผาไม่เหมือนที่อื่น ของเราดี ในหลวงรัชกาลที่๘ กับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังเคยเสด็จมา เสด็จฯมาดูการทำหม้อที่นี่คนที่นี่เคยรับเสด็จท่าน”

มือที่ผ่านงานปั้นมาตั้งแต่เด็ก จนรุ่นสาว ประคองดินขึ้นรูปภาชนะดินเผามานับร้อยนับพันใบ จนเข้าวัยชรา ถึงวันนี้มือนั้นวางลงแล้ว ไม่ได้ทำงานกอบดินขึ้นรูปอีกต่อไปเพราะเรี่ยวแรงถดถอยไปตามอายุ และความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่คนยุคปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาหารหรือต้องการหม้อดินเผา หรือเตาขนมครกกันอีก  ถ้าจะไปสัมผัส บางตะนาวศรี ลองนั่งเรือด่วนไปสิ้นสุดที่ท่าน้ำนนท์ แล้วออกเดินตั้งแต่คลองบางขวาง ยาวไปถึงคลองบางไผ่ คือ บางตะนาวศรี บางตะนาวศรียังคงเงียบสงบ เป็นชุมชนเล็กๆ เงียบสงบริมแม่น้ำเจ้าพระยา แอบซ่อนตัวไม่ไกลจากถนนใหญ่ บ้านไม้เรือนไทยเก่าๆ อาจจะลดจำนวนลงไปบ้างตามกาลเวลา เหมือนกับความทรงจำบางอย่างที่หายไป ชุมชนที่นี่มีความเป็นมายาวนาน นานกว่าบ้านเก่าริมน้ำอายุเกือบร้อยปีหลายหลังแถวนี้ แม้วันนี้เหลือเพียงเศษกระเบื้องยืนยันความรุ่งเรือง 

 

ข้อมูลอื่นๅ