• Home
  • LETTER FROM THE PAST
  • สร้างบ้าน แปลงเมือง 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

สร้างบ้าน แปลงเมือง 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

วันที่ 21 เมษายน 2566 ครบรอบวันเกิดเมืองรัตนโกสินทร์ 241 ปี ความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงครองราชย์สมบัติ และสร้างราชธานีใหม่ เริ่มต้นด้วยสิ่งแรกที่รัชกาลที่ 1 ทำ คือ การย้ายราชธานีจากธนบุรี ไปอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงเลือกบริเวณชาวจีนอาศัยอยู่คือ ที่พระบรมมหาราชวังในเวลานี้ ทรงชดเชย ค่าเสียหายให้คนจีน แล้วทรงให้ชาวจีนย้ายไปอยู่ตำบลสำเพ็ง แล้วโปรดเกล้าฯให้สร้างรั้วไม้เป็นกำแพงพระราชวัง รัชกาลที่1 ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุ45 พรรษา ทรงประกอบพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้สร้างพระราชวังใหม่ จึงทรงประทับในพระราชวังเดิมไปก่อน

มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อม ปราการป้องกันพระนคร โดยโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากป้อมบางกอกเดิมกับกำแพงเมืองครั้งกรุงธนบุรีลงเพื่อขยายกำแพงเมือง ขุดคูพระนครใหม่และขุดคลองเพิ่ม คลองคูเมืองเดิม ได้ขุดคลองโรงไหมที่มีอยู่เดิมทางด้านทิศเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ และคลองตลาดด้านทิศใต้เชื่อมกันตลอดคลองทำให้กรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพเป็น “เกาะเมือง” มีน้ำล้อมรอบ คลองรอบกรุง ได้ขุดคลองใหม่เชื่อมระหว่างคลองบางลำพูและคลองโอ่งอ่างเพื่อเป็นการขยายแนวเขตพระนครออกไป มีคลองเล็ก ๆ เชื่อมคลองรอบกรุงและคลองคูเมืองเดิมสองคลองเรียกว่าคลองหลอด เพราะมีลักษณะแนวตรงเหมือนหลอดปัจจุบันคือคลองวัดเทพธิดาและคลองวัดราชบพิธ ผลของการออกแบบเมือง ทำให้พื้นที่โครงสร้างของเมืองแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือ เขตกำแพงเมืองเก่า สมัยกรุงธนบุรีระหว่างคูเมืองเดิมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง

กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือ ที่ดินระหว่างคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง เดิมเป็นที่รกร้างหรือเป็นไร่นามาก่อนเพราะเป็นเขตนอกกำแพงเมือง ยุคแรกของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ภายในกำแพงเมือง 2,589 ไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชั้นใน 1,125 ไร่ และเขตชั้นนอก 1,464 ไร่ความยาวของกำแพงเมืองโดยรอบพระนคร ประมาณ 7.2 กิโลเมตร ตามแนวกำแพงเมืองมีป้อม 14 ป้อม ประตูเข้าออกพระนคร 63 ประตู การวางผังและแนวทางในการใช้ที่ดินเขตชั้นในดำเนินตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือที่ดินด้านเหนือน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ตั้งพระราชวังบวรสถานมงคลของพระอนุชาคือสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท หรือวังหน้า (ปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยช่างศิลป์ และวิทยาลัยนาฏศิลป์) 

ที่ดินด้านใต้เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวังหน้าและวังหลวงคือวัดมหาธาตุ หลังวัดมหาธาตุเป็นทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวง ถัดไปเป็นที่ตั้งของศาลหลวง วังเจ้านาย โรงม้าหลวง ตึกดิน ลงไปตามลำดับ ด้านหลังพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นที่ตั้งของกรมพระนครบาล คุก และหอกลองด้านหน้าของวัดพระเชตุพนฯ เป็นวังท่าเตียน 

พื้นที่ระหว่างกำแพงวังด้านใต้กับวัดพระเชตุพนฯ นั้น เป็นบ้านเรือนของเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ เขตชั้นนอกเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารและข้าราชการชั้นผู้น้อย ตลอดจนราษฎรพากันมาจับจองเพื่อตั้งบ้านเรือน ต่อมามีความหนาแน่นทวีขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาที่ผ่านไป ชุมชนในเมือง ระยะแรกแยกออกได้ตามเชื้อชาติเพราะเป็นชาวต่างด้าวเสียส่วนใหญ่ โดยภายในกำแพงเมืองนั้นพวกชาวเขมรอยู่ริมคลองรอบกรุงเยื้องปากคลองหลอด พวกมอญอยู่แถบสะพานมอญ และพวกมลายูอยู่แถบหน้าวัดชนะสงครามและริมคลองหลอด

ในรัชสมัยพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการขยายเขตพระบรมมหาราชวังออกไปทางทิศใต้อีก 20 ไร่ครึ่ง จนเกือบจดกับเขตวัดพระเชตุพน ฯ ในปี พ.ศ. 2361 เดิมเป็นที่ตั้งบ้านเรือนเสนาบดีเก่าสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้ตัดถนนสายใหม่คั่นเขตระหว่างพระบรมมหาราชวังและวัดพระเชตุพนฯ ชื่อ ถนนท้ายวัง มีความสำคัญในการบรรจบกับถนนสายเดิมทำให้ขบวนแห่สามารถเคลื่อนรอบกำแพงพระบรมมหาราชวังได้ดังเช่นปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมอาคารสำคัญในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามจำนวนมาก ส่วนวัดที่โปรดให้ปฏิสังขรณ์นั้นมีหลายวัดที่โปรดให้เปลี่ยนชื่อให้เหมือนวัดในกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่คือเจดีย์ภูเขาทองขึ้นที่ภายนอกเขตกำแพงเมืองบริเวณปากคลองมหานาคต่อกับคลองรอบกรุงเช่นที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย เจดีย์ภูเขาทองได้กลายเป็นแลนมาร์กที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงเปลี่ยนนโยบายการปกครองประเทศ โดยทรงยอมรับอิทธิพลจากประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป จึงมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์ครั้งสำคัญ เนื่องจากประชากรเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปเมื่อเทียบกับตอนสร้างกรุง ทำให้อาณาเขตพระนครที่กำหนดไว้แต่เดิมคับแคบลง จึงโปรดให้ขยายพื้นที่พระนครออกไปถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม ไม่มีกำแพงเมืองมีแต่ป้อม 7 ป้อม ทำให้พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4,000 ไร่ เวลานั้นชุมชนชาวจีนที่อพยพย้ายออกมาเมื่อครั้งเริ่มสร้างกรุงได้สร้างความตื่นตัวโดยเฉพาะด้านการค้าให้กับพื้นที่ที่ขยายตัวออกไปนี้ แผ่คลุมบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยานับตั้งแต่คลองรอบกรุงไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ต่อจากชุมชนจีนไปทางใต้เป็นที่ตั้งสถานกงสุลของชาติต่าง ๆ จากยุโรป ครองพื้นที่กระจายต่อจากริมแม่น้ำลึกเข้าไปทางทิศตะวันออกของกรุงรัตนโกสินทร์  พัฒนาการด้านการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากชุมชนในน้ำมาเป็นชุมชนบนบก โดยโปรดให้ตัดถนนขึ้นตามความต้องการของชาวจีนและชาวยุโรปเช่น ถนนเจริญกรุง ถนนตรง (พระรามที่ 4) ถนนสีลม ถนนเฟื่องนครและถนนบำรุงเมือง สองฝากถนนสายต่าง ๆ โปรดให้สร้างตึกแถวเป็นห้องแถวสูง 1-2 ชั้น เพื่อให้เช่าทำการค้าขาย ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เกิดชุมชนใหม่บนบกเป็นครั้งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมณฑล ชื่อ มณฑลกรุงเทพมหานคร มีการปรับปรุงและขยายตัวให้ทันสมัยและทันรับความเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น โดยโปรดให้ขยายและปรับปรุงถนนสายเดิม และสร้างถนนราชดำเนินทั้งสายนอก สายกลางและสายใน เพื่อเชื่อมการติดต่อระหว่างพระราชวังดุสิตที่ทรงสร้างขึ้นใหม่บริเวณทางเหนือกรุงรัตนโกสินทร์และพระบรมมหาราชวัง ทำให้เกิดงานออกแบบชุมชนเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ทรงโปรดฯ ให้ สร้างสะพานด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยเหล็กหล่อเป็นลวดลายวิจิตรตามแบบฉบับงานสถาปัตยกรรมยุโรปยุคฟื้นฟูวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลงานก่อสร้างทุกประเภทในสมัยนั้น คูคลองต่าง ๆ ก็ได้รับการทำนุบำรุงโดยการปลูกต้นไม้ริมทางสัญจรอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งก่อสร้างอาคารร้านค้าให้ดูกลมกลืนไม่ลักลั่นกันมาก ช่วยส่งเสริมความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่เมือง

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว การใช้ที่ดินประเภทต่าง ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ขยายตัวออกไปโดยปราศจากการวางแผน มีการขยายตัวของชุมชนต่าง ๆ เกิดเป็นย่านธุรกิจขึ้น เช่น ย่านการค้าของชาวจีนที่เยาวราช ย่านคนไทยที่บางลำพู ย่านธุรกิจของฝรั่งที่บางรัก ย่านอุตสาหกรรมตามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และย่านเกษตรกรรมทางตอนเหนือของเมืองพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดตัดถนนและสร้างสะพานเพิ่มเติมจากสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสร้างพระที่นั่งภายในพระบรมมหาราชวังเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง โดยไม่มีการขยายเขตเมืองออกไปอีก แต่ได้ทรงขยายเขตพระราชวังสวนดุสิตและสร้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐานขึ้นเป็นที่ประทับของพระองค์เองและของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อมา มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลกระทบให้เริ่มมีการแบ่งพื้นที่การปกครองในกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็นอำเภอชั้นในและชั้นนอก พื้นที่เขตชั้นในนั้นก็คือพื้นที่เพียงเท่าที่มีการขยายถนนออกไปในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เท่านั้น

สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงครองราชย์เพียงระยะเวลาสั้น ทั้งสองพระองค์ ประกอบกับเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ลักษณะทางกายภาพของกรุงรัตนโกสินทร์แทบไม่แตกต่างกันนัก ในช่วง 2 รัชกาลนี้ไม่มีการก่อสร้างพระราชวังหรือวังเจ้านายเพิ่มขึ้น ชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนที่อยู่ตำแหน่งเดิม โดยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องขอบเขตและความหนาแน่นต่างไปจากเดิมบ้าง การก่อสร้างอาคารใหม่มีน้อยกว่าในเขตชั้นนอก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของหน่วยราชการและวัดเกือบทั้งสิ้น  ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นตึกแถวใช้ชั้นล่างประกอบการค้าและพักอาศัยที่ชั้นบน ที่อยู่อาศัยเหล่านี้มีอายุค่อนข้างมากกำแพง ป้อมปราการ หมดความสำคัญในการป้องกันรักษาพระนคร ประกอบกับมีสภาพชำรุดทรุดโทรมพังลงบ้าง จึงรื้อกำแพงเมืองตั้งแต่ท่าช้าง วังหน้า จนถึงป้อมพระสุเมรุ ในรัชกาลที่ 7 เพื่อขยายถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ ป้อมมหากาฬ กำแพง และประตูเมืองหน้าวัดบวรนิเวศเท่านั้น

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมืองขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ความเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มากนักที่ดินรอบนอกคลองคูเมืองเดิมส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ได้แก่ อาคารศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า และอาคารพาณิชย์-พักอาศัย มีการรวมตัวของกิจกรรมประเภทเดียวกัน แบ่งเป็นย่าน อย่างชัดเจน บริเวณย่านการค้าที่สำคัญ ได้แก่ย่านวังบูรพาและพาหุรัด ย่านบ้านหม้อ ย่านปากคลองตลาด ย่านคลองถม ย่านร้านค้าหลังกระทรวงกลาโหม เป็นต้น สำหรับหน่วยงานราชการในสมัยรัชกาลที่ 9 มีสถานที่ราชการเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั้งหน่วยงานที่ตั้งใหม่และการขยายหน่วยงานเดิม จนถึงปี 2520 ทางราชการจึงได้กำหนดชื่อ “เกาะรัตนโกสินทร์” ขึ้น มีวัตถุประสงค์จะกำหนดไว้เป็นเขตปรับปรุงปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพราะถือว่าเป็นอาณาเขตกรุงเทพมหานคร หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ระยะแรกเริ่ม

ข้อมูลอื่นๅ